Doctor At Home: แมงมุมกัดแมงมุมโดยทั่วไปจะไม่มีพิษ เมื่อถูกกัดจะเป็นเพียงแผลบวมแดงไม่ปวด
การดูแลตนเอง
ใช้ยาหม่องหรือครีมสเตียรอยด์ทา
หมายเหตุ แมงมุมที่มีพิษ เช่น แมงมุมดำ (black widow spider) ซึ่งพบในแถบลาตินอเมริกา (ไม่พบในประเทศไทย) อาจมีพิษต่อประสาท ทำให้อ่อนแรง เวียนศีรษะ อาเจียน กล้ามเนื้อเกร็งและปวด อาจหายใจลำบาก และช็อกถึงเสียชีวิตได้ ต้องฉีดเซรุ่มแก้พิษ ถ้าสงสัยถูกแมงมุมมีพิษต่อย ให้ทำการปฐมพยาบาลแบบเดียวกับถูกงูกัด
การปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกงูกัด
การปฐมพยาบาลเป็นสิ่งที่ต้องกระทำหลังถูกงูกัดทันทีก่อนที่จะนำส่งโรงพยาบาล มักจะกระทำโดยผู้ป่วยเอง ญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูง คำแนะนำในการให้การปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกงูกัด สำหรับบุคคลเหล่านี้ ได้แก่
1. ใช้เชือก ผ้า หรือสายยางรัดแขนหรือขา ระหว่างแผลงูกัดกับหัวใจ (เหนือรอยเขี้ยว 2-4 นิ้วฟุต) เพื่อป้องกันมิให้พิษงูถูกดูดซึมเข้าร่างกายโดยเร็ว ให้รัดแน่นพอที่จะหยุดการไหลเวียนของเลือดดำ ควรคลายเชือกทุก ๆ 15 นาที โดยคลายนานครั้งละ 30-60 วินาที จนกว่าจะถึงสถานพยาบาล
2. เคลื่อนไหวแขนหรือขาส่วนที่ถูกงูกัดให้น้อยที่สุด ควรจัดตำแหน่งของส่วนที่ถูกงูกัดให้อยู่ในระดับต่ำกว่าหัวใจ (เช่น ห้อยเท้าหรือมือส่วนที่ถูกงูกัดลงต่ำ) ระหว่างเดินทางไปยังสถานพยาบาล อย่าให้ผู้ป่วยเดิน ควรให้ผู้ป่วยนั่งรถหรือแคร่หาม ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของพิษงู
3. ควรดูให้รู้แน่ว่าเป็นงูอะไร แต่ถ้าไม่แน่ใจควรบอกให้คนอื่นที่อยู่ในที่เกิดเหตุช่วยตีงูให้ตาย และนำไปยังสถานพยาบาลด้วย (อย่าตีให้เละจนจำลักษณะไม่ได้)
4. อย่าให้ผู้ป่วยดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาดองเหล้า หรือกินยากระตุ้นประสาท รวมทั้งชา กาแฟ
5. อย่าใช้ไฟหรือเหล็กร้อนจี้ที่แผลงูกัด และอย่าใช้มีดกรีดแผลเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้เลือดออกมาก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าถูกงูที่มีพิษต่อเลือดกัด) หรืออาจตัดถูกเส้นเอ็นหรือเส้นประสาท รวมทั้งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
6. ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ (จากงูที่มีพิษต่อประสาท) ให้ทำการเป่าปากช่วยหายใจไปตลอดทางจนกว่าจะถึงสถานพยาบาลที่ใกล้บ้านที่สุด
7. สำหรับบาดแผลให้ใช้ยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดบาดแผล ถ้ารู้สึกปวดแผลให้กินพาราเซตามอล ห้ามให้แอสไพริน เพราะอาจทำให้เลือดออกง่ายขึ้น