head prakardsod






























































ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: ดีซ่านสรีระในทารกแรกเกิด (Physiologic jaundice)  (อ่าน 110 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 188
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: ดีซ่านสรีระในทารกแรกเกิด (Physiologic jaundice)
« เมื่อ: วันที่ 5 ตุลาคม 2024, 11:33:47 น. »
Doctor At Home: ดีซ่านสรีระในทารกแรกเกิด (Physiologic jaundice)

ทารกแรกเกิดที่แข็งแรงเป็นปกติประมาณร้อยละ 60 อาจมีอาการดีซ่านได้ ทั้งนี้เนื่องจากตับของทารกยังทำงานไม่ได้เต็มที่ คือ ยังไม่สามารถขจัดสารสีเหลือง ได้แก่ บิลิรูบิน (bilirubin)* ที่เกิดจากการแตกของเม็ดเลือดแดงของทารกในปริมาณมาก จึงทำให้มีการคั่งของสารนี้จนเกิดอาการดีซ่าน เรียกว่า ภาวะดีซ่านสรีระ (physiologic jaundice) ซึ่งจะตรวจไม่พบโรคหรือความผิดปกติใด ๆ

ภาวะดีซ่านสรีระพบได้บ่อยในทารกที่ดูดนมหรือน้ำได้น้อยเกินไป

ทารกที่คลอดก่อนกำหนดและทารกที่ตัวเล็กกว่าปกติมีโอกาสเป็นดีซ่านสรีระมากกว่าทารกที่คลอดปกติ

*บิลิรูบิน (bilirubin) เป็นสารสีเหลือง ซึ่งเกิดจากการสลาย (แตก) ตัวของเม็ดเลือดแดง โดยปกติตับจะทำหน้าที่ดึงเอาสารนี้ออกจากกระแสเลือด และนำไปสร้างน้ำดี

น้ำดีส่วนหนึ่งจะเก็บสะสมอยู่ในถุงน้ำดี ซึ่งต่อมาจะไหลผ่านท่อน้ำดีร่วม (common bile duct) ลงไปในลำไส้เล็กเพื่อช่วยย่อยอาหารพวกไขมัน น้ำดีส่วนที่เหลือจะไหลโดยตรงจากตับผ่านท่อตับ ท่อน้ำดี ลงไปที่ลำไส้เล็ก

ถ้าหากเกิดความผิดพลาดเกี่ยวกับขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการดังกล่าว เช่น เม็ดเลือดแดงแตกตัวมากเกินไป (เช่น ที่พบในโรคเม็ดเลือดแดงแตก) ท่อน้ำดีอุดตัน ตับอักเสบ ตับไม่สามารถขจัดสารบิลิรูบิน เป็นต้น ก็จะทำให้มีการคั่งของสารบิลิรูบินในกระแสเลือด (hyperbilirubinemia) กลายเป็นดีซ่าน
 

สาเหตุ

เกิดจากตับของทารกยังทำงานไม่ได้เต็มที่ ไม่สามารถขจัดสารสีเหลือง (บิลิรูบิน) จากกระแสเลือด ออกไปทางลำไส้ได้ทัน จึงมีการคั่งของสารนี้ ทำให้เกิดอาการตาเหลืองตัวเหลือง (ดีซ่าน) ชั่วคราวได้

อาการ

ทารกจะเริ่มมีอาการดีซ่าน (ตาเหลือง) เมื่อพ้นระยะ 24 ชั่วโมงหลังคลอด ส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 2-3 วันหลังคลอด จะเหลืองเข้มที่สุดในราววันที่ 5-7 หลังคลอดแล้วจะค่อย ๆ จางหายไปภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยที่ทารกดูแข็งแรงดี ไม่มีไข้ ไม่ซึม ไม่งอแง ไม่ซีด ดูดนมและน้ำได้ดี ถ่ายอุจจาระสีปกติ

อาการเหลืองจะเริ่มจากบริเวณหน้าก่อน แล้วไล่ลงมาที่ลำตัว แขนและขา ตามลำดับ ส่วนเวลาจางจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม


ภาวะแทรกซ้อน

โดยทั่วไปภาวะเช่นนี้มักไม่มีอันตรายต่อทารกแต่อย่างใด ยกเว้นในรายที่มีอาการเหลืองจัด (มีระดับบิลิรูบินในเลือดสูงจัด) อาจทำให้สมองพิการได้ เนื่องจากสารบิลิรูบินเข้าไปสะสมในเนื้อสมอง ทำให้สมองทำหน้าที่ผิดปกติ เรียกว่า ภาวะสารบิลิรูบินสะสมในสมอง (kernicterus) หรือ โรคสมองบิลิรูบิน (bilirubin encephalopathy) ทารกจะมีอาการซึม ไม่ดูดนม อาเจียน หลังแอ่น ตาเหลือก ชัก และอาจเสียชีวิตได้ หรือไม่ก็อาจกลายเป็นเด็กพิการ ปัญญาอ่อน หูหนวก


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก มีสิ่งตรวจพบ ได้แก่ ตาเหลือง ตัวเหลือง และปัสสาวะสีเหลืองเหมือนขมิ้น

ในกรณีที่จำเป็น แพทย์จะทำการตรวจระดับบิลิรูบินในเลือด


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษาดังนี้

1. ถ้าพบอาการดีซ่านในทารกแรกเกิด ซึ่งเริ่มมีอาการในวันที่ 2-5 หลังคลอด แพทย์จะตรวจดูทารกอย่างละเอียด เมื่อแน่ใจว่าไม่มีสาเหตุจากอย่างอื่น และทารกท่าทางแข็งแรงดี ก็จะแนะนำให้ทารกดูดนมและน้ำให้มากขึ้น ให้ทารกผึ่งแดดอ่อน ๆ ตอนเช้า หรือใช้แสงไฟนีออนส่อง จะช่วยลดอาการเหลืองได้ แล้วทำการติดตามดูอาการของทารกอย่างใกล้ชิด ถ้าหากพบว่าทารกตัวเหลืองเข้มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเวลานานกว่า 1 สัปดาห์ หรือ ฝ่าเท้าเหลือง (ซึ่งมักมีระดับบิลิรูบินสูงกว่า 20 มก./ดล.) อาจจำเป็นต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล

2. ถ้าพบว่าทารกมีอาการไข้ ซีด มีจุดแดงจ้ำเขียว ท้องเดิน อุจจาระสีเหลืองอ่อนหรือซีดขาว ซึมผิดปกติ ตัวอ่อนปวกเปียก ไม่ดูดนม อาเจียน ชัก หรือเริ่มมีอาการดีซ่านภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอดหรือเมื่อมีอายุมากกว่า 3 วัน แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ทำการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจพิเศษอื่น ๆ เพื่อค้นหาสาเหตุ และให้การรักษาตามสาเหตุ

3. ในรายที่เป็นภาวะดีซ่านสรีระ (ไม่มีโรคหรือความผิดปกติต่าง ๆ แต่เหลืองจัด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสมองทารก) แพทย์จะทำการบำบัดด้วยแสง (phototherapy คือการส่องด้วยแสงไฟนีออนของหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์หรือแสงสีน้ำเงิน)

หากไม่ได้ผล หรือพบว่ามีระดับบิลิรูบินในเลือดสูงมาก (มากกว่า 20-25 มก./ดล. ในทารกคลอดครบกำหนด ส่วนในทารกคลอดก่อนกำหนดคิดที่ค่าต่ำกว่านี้) แพทย์ก็จะทำการเปลี่ยนถ่ายเลือด (exchange transfusion)

ผลการรักษา ส่วนใหญ่หายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าปล่อยไว้จนมีอาการเหลืองจัด และได้รับการรักษาล่าช้าไป ก็อาจมีความยุ่งยากในการรักษา หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้

*ทารกที่ดื่มนมมารดาตั้งแต่แรกเกิดอาจมีอาการดีซ่านได้บ่อย ซึ่งเป็นไปได้ 2 ลักษณะ คือ

1. เกิดจากนมมารดาออกน้อย หรือให้ทารกดูดนมน้อย ทำให้ทารกได้ปริมาณนมน้อยเกินไป เกิดภาวะขาดน้ำ ประกอบกับลำไส้ทารกเคลื่อนตัวช้าเนื่องจากไม่มีนมกระตุ้น ทำให้มีการดูดซึมบิลิรูบินกลับเข้าเลือดมากขึ้น จึงเกิดอาการดีซ่าน ซึ่งมักเกิดขึ้นภายใน 7 วันแรกหลังคลอด และมีอาการน้ำหนักลดร่วมด้วย เมื่อให้ดูดนมบ่อยขึ้น (เพิ่มเป็นวันละ 8-12 ครั้ง) มีปริมาณนมออกมากขึ้น อาการก็จะค่อย ๆ ทุเลาไปได้เองเป็นส่วนใหญ่

ลักษณะนี้เรียกว่า ภาวะดีซ่านจากการเลี้ยงนมมารดา (breast-feeding jaundice)

2. เกิดจากนมมารดาในบางรายจะมีสารบางชนิด เช่น กรดไขมันอิสระ บีตากลูคูโรนิเดส (beta glucuronidase) ในปริมาณมากกว่าปกติ ส่งผลให้ทารกเกิดอาการดีซ่าน ซึ่งมักเกิดขึ้นในวันที่ 4-7 หลังคลอด และอาจเป็นอยู่นานกว่า 2 สัปดาห์ (บางรายอาจนานถึง 12 สัปดาห์) ส่วนใหญ่มักไม่มีความรุนแรง

ลักษณะนี้เรียกว่า ภาวะดีซ่านจากนมมารดา (breast milk jaundice) หากพบอาการนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอื่นก่อน

เมื่อมั่นใจว่าเกิดจากนมมารดา ส่วนใหญ่ก็ยังคงแนะนำให้เลี้ยงทารกด้วยนมมารดาต่อไป และอาจให้นมผสมเสริม หากไม่ทุเลาอาจงดให้นมมารดา 1-2 วัน อาการมักจะทุเลาได้ น้อยรายที่อาจมีอาการเหลืองจัดจนต้องให้การบำบัดด้วยแสง หรือเปลี่ยนถ่ายเลือด


การดูแลตนเอง

1. ถ้าพบอาการดีซ่านในทารกแรกเกิด ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นดีซ่านสรีระในทารกแรกเกิด ควรดูแลรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามการรักษาตามที่แพทย์นัด ควรให้ทารกดูดนมแม่โดยเร็ว(ภายใน 1/2 - 1 ชั่วโมงหลังคลอด) และบ่อยๆ ดื่มน้ำให้มากขึ้น และให้ทารกผึ่งแดดอ่อน ๆ ตอนเช้า หรือใช้แสงไฟนีออนส่อง

2. ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้าทารกมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีไข้ อาเจียน ท้องเดิน ซีด มีจุดแดงจ้ำเขียว ซึมผิดปกติ ตัวอ่อนปวกเปียก หรือชัก
    อุจจาระสีเหลืองอ่อน หรือซีดขาว
    ทารกไม่ดูดนม
    มีอาการตัวเหลืองเข้มขึ้นเรื่อย ๆ หรือ ฝ่าเท้าเหลือง
    เริ่มมีอาการดีซ่านภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอดหรือเมื่อมีอายุมากกว่า 3 วัน
    มีความวิตกกังวล


การป้องกัน

หลังคลอดควรให้ทารกดูดนมโดยเร็ว (ภายใน 1/2 - 1 ชั่วโมงหลังคลอด) และบ่อย ๆ จะช่วยกระตุ้นให้ลำไส้เคลื่อนตัวและถ่ายอุจจาระ อาจช่วยป้องกันการเกิดภาวะดีซ่าน และลดความรุนแรงลงได้


ข้อแนะนำ

ควรทำการตรวจดูอาการดีซ่านในทารกทุกรายตั้งแต่ระยะหลังคลอดจนพ้นระยะ 1-2 สัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด เนื่องจากมักมีสาเหตุร้ายแรง ซึ่งหากได้รับการรักษาแต่เนิ่น  ๆ จะสามารถช่วยให้อยู่รอดปลอดภัย และลดภาวะแทรกซ้อนทางสมองลงได้มาก