head prakardsod






























































ผู้เขียน หัวข้อ: โปรแกรมหมอประจำบ้านอัจริยะ: หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum)  (อ่าน 84 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 196
    • ดูรายละเอียด
โปรแกรมหมอประจำบ้านอัจริยะ: หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum)

หูดข้าวสุก เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายของผิวหนัง ขึ้นเป็นตุ่มกลมคล้ายโรคหูด แต่มีลักษณะผิวเรียบเป็นมัน ตรงกลางมีรอยบุ๋ม พบได้ในคนทุกอายุ แต่ส่วนใหญ่จะพบในเด็กที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (atopic dermatitis) ในผู้ใหญ่มักพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ที่เป็นเอดส์ ผู้ที่รับยากดภูมิคุ้มกัน)

สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อหูดข้าวสุก ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่า เอ็มซีวี (MCV ซึ่งย่อมาจาก molluscum contagiosum virus) โรคนี้สามารถติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรง หรือทางเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วย หรือโดยการใช้สระว่ายน้ำร่วมกับผู้ป่วย ระยะฟักตัว 2-7 สัปดาห์


อาการ

ขึ้นเป็นตุ่มตามผิวหนัง ไม่เจ็บไม่คัน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-6 มม. (บางครั้งอาจถึง 1-3 ซม.) มีลักษณะเป็นสีเหลืองหรือสีของผิวหนัง

มีลักษณะเฉพาะคือ ผิวเรียบเป็นมันคล้ายไข่มุก และตรงกลางมีรอยบุ๋ม ซึ่งถ้ากดหรือบีบให้แตก หรือใช้เข็มสะกิดจะมีเนื้อหูดเละ ๆ สีขาวคล้ายข้าวสุกไหลออกมา ตุ่มมักขึ้นตามลำตัว แขนขา และบริเวณอวัยวะเพศ มีลักษณะขึ้นเป็นกลุ่ม และมักพบมากกว่า 1 แห่ง

ในผู้ป่วยเอดส์มักมีตุ่มเกิดขึ้นใหม่อยู่เรื่อย ๆ มักมีขนาดใหญ่จำนวนมาก และคงอยู่นานกระจายอยู่ทั่วไป ตามศีรษะ คอ หน้า และอวัยวะเพศ

ในคนปกติที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรง หูดข้าวสุกมักจะหายได้เองภายใน 6-9 เดือนโดยไม่เป็นแผลเป็น ยกเว้นในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งจะมีอาการอักเสบ และเมื่อแตกจะกลายเป็นแผลเป็นได้

ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าแกะเกาอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ถ้าขึ้นที่เปลือกตาอาจทำให้เยื่อตาขาวอักเสบ 


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากลักษณะของรอยโรคเป็นหลักที่พบขึ้นเป็นตุ่มผิวเรียบเป็นมันคล้ายไข่มุก และตรงกลางมีรอยบุ๋ม

          หากไม่แน่ใจ จะขูดเอาเนื้อเยื่อไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ


การรักษาโดยแพทย์

ถ้าตุ่มขึ้นไม่มาก แพทย์จะทำความสะอาดบริเวณที่เป็นหูดข้าวสุกด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ (เช่น โพวิโดนไอโอดีน) ใช้ยาชาทาเพื่อไม่ให้ปวด แล้วใช้ปากคีบบีบหรือใช้เครื่องมือขูด (curet) หรือใช้เข็มสะกิดแล้วบีบเอาน้ำหูดข้าวสุกออกมา แล้วทาด้วยซิลเวอร์ไนเทรต (silver nitrate) ฟีนอล (phenol)

         ถ้าไม่ได้ผล หรือขึ้นตุ่มจำนวนมาก แพทย์จะให้การรักษาด้วยเครื่องจี้ไฟฟ้าหรือแสงเลเซอร์จี้ด้วยไนโตรเจนเหลว หรือทาด้วยกรดไตรคลอโรอะซีติกชนิด 50-70% หรือกรดซาลิไซลิกชนิด 40%

ในรายที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว แพทย์จะใช้ครีมอิมิควิมด (imiquimod) ชนิด 5% ซึ่งเป็นยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทาวันละครั้งก่อนนอนเป็นเวลา 5 วัน/สัปดาห์ จนกระทั่งหาย (อาจใช้เวลานาน 9 เดือน) จะช่วยให้หูดยุบหายหมดได้ประมาณร้อยละ 80

         ในรายที่มีหูดข้าวสุกขึ้นกระจาย แพทย์จะให้กินไซเมทิดีนในขนาดสูง (30-40 มก./กก./วัน) ซึ่งมีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกันนาน 2 เดือน จะช่วยให้หายได้ใน 4 เดือน


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีตุ่มขึ้นที่ผิวหนัง ตุ่มมีลักษณะผิวเรียบเป็นมันคล้ายไข่มุก และตรงกลางมีรอยบุ๋ม ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคหูดข้าวสุก ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    ลดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น โดยใช้ผ้าปิดแผล ปิดคลุมรอยโรคไว้ งดเล่นน้ำในสระ งดการมีเพศสัมพันธ์ถ้ามีหูดข้าวสุกในบริเวณอวัยวะเพศ และหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่บ่อย ๆ


ควรกลับไปพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    หูดข้าวสุกมีการติดเชื้อแบคทีเรียอักเสบเป็นหนอง
    มีหูดข้าวสุกเกิดขึ้นใหม่

การป้องกัน

    หลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกเนื้อหูดข้าวสุกของผู้อื่นและของตัวเอง
    หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของเครื่องใช้ (เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว รองเท้า ถุงเท้า) ร่วมกับคนที่เป็นหูดข้าวสุก 
    หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่
    หมั่นรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย กินอาหารครบ 5 หมู่ที่สมสัดส่วน และพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง

ข้อแนะนำ

1. ผู้ที่มีหูดข้าวสุกขึ้นกระจายจำนวนมาก หรือมีขนาดใหญ่ ควรส่งตรวจเลือดดูว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่

2. หูดข้าวสุกเมื่อรักษาหายแล้ว อาจเกิดขึ้นได้ใหม่ ควรหาทางป้องกันไม่ให้ติดเชื้อซ้ำอีก